เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นายบรรเจิด กลิ่นจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 เป็นประธานการประชุมพบปะและซักซ้อมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนิสิตและนักศึกษา ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 ณ ห้องประชุมศรีชมภู จำนวน 5 คน เป็นนิสิต 4 คน และเป็นนักศึกษา 1 คน
สำหรับนิสิตที่มาฝึกประสบการณ์เป็นนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา วิชาเอกการบริหารการศึกษา ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าฝึกปฏิบัติการวิชาชีพการบริหารการศึกษา โดยนิสิตจะต้องฝึกปฏิบัติการวิชาชีพเกี่ยวกับการบริหารงานด้านต่างๆในหน่วยงานทางการศึกษา จำนวน 45 ชั่วโมง จึงจะสามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา/ผู้บริหารสถานศึกษาได้ตามเกณฑ์ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนด รวม 4 คน ประกอบด้วยนายขัตติวรรธน์ ทวีถิ่น นางสาวฐานะมาศ หาดยาว นายเถลิงศักดิ์ ศิริประเสริฐ และนายนิพนธ์ ตะปะโจทย์ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นาย วิทยา เกษาอาจ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นพี่เลี้ยงของคณะนิสิต
สำหรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เป็นนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ระดับปริญญาตรี เข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2564 ได้แก่ นางสาววรินญา ธะนะวัตร์
ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่งได้ที่เว็บไซต์ facebook เว็บลิงค์ https://www.facebook.com/groups/www.phetchabun1.go.th/permalink/3589927814386888/

เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น. นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดเพชรบูรณ์ (ศปถ.จ.พช.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเมืองราด ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ (อาคาร 2) โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการของ ศปถ.จ.พช.ด้วย
อนึ่งการประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีเรื่องที่ประชุมประกอบด้วย ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ โดยแจ้งว่าการประชุมในครั้งนี้เป็นการเชิญหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุมในวันนี้เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามแนวทางนโยบาย "ตำบลขับขี่ปลอดภัย" และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 5 E เพื่อมุ่งสู่ "จังหวัดถนนปลอดภัย" ต่อไป
ส่วนระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมเป็นการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น.ณ ห้องเมืองราด ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ อาคาร 2 สำหรับระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบ
ได้แจ้งเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 3.1) รายงานข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 25 -28 กรกฎาคม 2563 และระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน 2563 3.2) รายงานผลการบันทึกข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนผ่านระบบ e-report ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 3.3) รายงานอุบัติเหตุใหญ่/อุบัติเหตุที่ประชาชนให้ความสนใจ ได้แก่ กรณีรถบรรทุก 6 ล้อเสียหลักลงข้างทาง บนถนนทางหลวงหล่มสัก-ชุมแพ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน และกรณีรถปิคอัพบรรทุกผักเสียหลักพลิกคว่ำ บริเวณทางโค้งขึ้นภูทับเบิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บจำนวน 5 คน 3.4) การปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูล/สาเหตุ อุบัติเหตุทางถนนจังหวัดเพชรบูรณ์ และ 3.5) รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดเพชรบูรณ์ (ด้านการบังคับใช้กฎหมาย) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563
ทั้งนี้ มีเรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ได้แก่ 4.1) การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อ.) และ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปภ.อปท.) 4.2) ความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องการชำระภาษีของรถที่ค้างชำระภาษี (1 ถึง 3 ปี) และ 4.3) การจัดทำแผนการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนรองรับฤดูกาลท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์
สำหรับระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่นๆ ได้แก่ พิธีมอบหมวกกันน็อคในโครงการ "ประชาชนสุขใจ สวมหมวกนิรภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ" พ.ศ.2563 จังหวัดเพชรบูรณ์ (ระยะที่ 3) โดยประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ในมูลนิธิเมาไม่ขับจังหวัดเพชรบูรณ์ กับเรื่องการแจ้งข่าวเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่เคยเป็นข่าวด้านลบในจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า ในด้านข่าวดีนั้น ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์กลุ่มหนึ่งได้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่โรงเรียนบ้านเขาสัก อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ถือเป็นข่าวดีที่อยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ และเรื่องการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนเรื่องวินัยจราจรในโรงเรียนสำหรับผู้เรียนในจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้อนุมัติและประกาศใช้ โดยนายวันชัย ศรีเหนี่ยง ผู้แทนของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 และว่าที่ร้อยตรี ประหยัด แก่นชา ศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์
ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่งได้ที่เว็บไซต์ facebook เว็บลิงค์ https://www.facebook.com/groups/www.phetchabun1.go.th/permalink/3589914174388252

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 น. นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการจัดงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2564 โดยมีนายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการจัดงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องเพชบุระ ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 ได้มอบหมายให้นายวันชัย ศรีเหนี่ยง นักประชาสัมพันธ์ เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุ

ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ร่วมกับสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์กำหนดจัดงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 23 – 31 มกราคม 2564 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยการประชุมในวันนี้ได้แจ้งให้ทราบถึงผลการดำเนินงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ในปีที่ผ่านมา และมอบหมายให้คณะกรรมการแต่ละฝ่ายดำเนินการเตรียมพร้อมในการจัดงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้การจัดงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ปี 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สำหรับคณะกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การจัดงานสำเร็จด้วยดี ได้แก่ คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการ คณะกรรมการฝ่ายเลขานุการการจัดงาน คณะกรรมการฝ่ายจัดสถานที่ แสงเสียง และกำหนดแผนผังบริเวณงาน คณะกรรมการฝ่ายพิธีการ คณะกรรมการฝ่ายจัดขบวนแห่ ประกวดธิดามะขามหวาน และรถมะขามหวาน คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรม หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และนิทรรศการของส่วนราชการ ผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ คณะกรรมการฝ่ายตลาดนัดมะขามหวาน และจัดประกวดผลผลิตทางการเกษตร คณะกรรมการฝ่ายจัดการแสดงบนเวทีกลาง คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมลานวัฒนธรรม จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะกรรมการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและการจราจร คณะกรรมการฝ่ายบริการ (ไฟฟ้า ประปา และการรักษาความสะอาด) คณะกรรมการฝ่ายปฐมพยาบาล คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายจัดหารายได้ คณะกรรมการฝ่ายการเงินและบัญชี และคณะกรรมการฝ่ายสื่อสาร
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในฝ่ายต่าง ๆ หลายฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการ คณะกรรมการฝ่ายพิธีการ คณะกรรมการฝ่ายจัดขบวนแห่ ประกวดธิดามะขามหวาน และรถมะขามหวาน และ คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรม หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และนิทรรศการของส่วนราชการ ผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการฝ่ายการจัดการแสดงบนเวทีกลาง ด้วย
อนึ่ง ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมการแต่ละฝ่ายดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการในฝ่ายตามกรอบภารกิจที่ได้รับมอบหมายและเสนองบประมาณจัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการจัดงาน กลุ่มงานปกครอง ที่ทำการปกครองจังหวัดเพชรบูรณ์ (ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์อาคาร 1) ทราบ ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2563
ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่ง ได้ที่เว็บไซต์เฟสบุ้ค เว็บลิงค์ https://m.facebook.com/groups/www.phetchabun1.go.th/permalink/3582385855141084/

เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 253 เวลา 09.00 น. ที่ หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน 2563 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อนึ่ง คณะข้าราชการและลูกจ้าง สังกัด สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 จำนวน 10 ท่าน ได้ไปร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อจารึกไว้เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทย ที่จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบิดาแห่งฝนหลวง โดยในวันนี้ถือว่าเป็นวันครบรอบปีที่ 65 นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ซึ่งเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ที่จะคิดค้นวิจัยหาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนที่ประสบภัยแล้งรวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนปัจจุบัน

ความเป็นมาของวันที่ 14 พฤศจิกายน "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น อันกอปรด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระราชอุตสาหะวิริยะและการที่ทรงสละเวลาส่วนพระองค์แม้ในยามดึกดื่นค่ำคืนอย่างเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ พระวรกายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อนพืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า ”สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง” ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมดดังที่ทรงสังเกตเห็น ในขณะนั้นให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน

ที่มาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง นับแต่วันนั้นมา ทรงถ่ายทอดและพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมทำการศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และให้วิจัยและค้นคว้าหาลู่ทางที่จะทำให้แนวพระราชดำริมีความเป็นไปได้ตั้งแต่ พ.ศ.2498 เป็นต้นมา จนสามารถทำการค้นคว้าทดลองในท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 ซึ่งประสบความสำเร็จตามข้อสมมติฐานที่ทรงคาดหมายไว้ สร้างความเชื่อมั่นในแนวพระราชดำริยิ่งขึ้น จึงได้มีการดำเนินการ ในรูปโครงการค้นคว้าทดลองทำฝนเทียมในปี 2513 โดยให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการมิ ใช่เพียงทรงก่อให้เกิดแนวพระราชดำริขึ้นมาเท่านั้น แต่ทรงร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีที่ทรงค้นพบ ไปประยุกต์ในการปฏิบัติการฝนหลวงหวังผล ด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องใกล้ชิตตลอดมา รวมทั้งทรงบัญชาการปฏิบัติการสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรงบัญชาการคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงจนเกินกำลังของคณะปฏิบัติการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด


ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง จึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนทรงสามารถสรุปขั้นตอนกรรมวิธีการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผลตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา นับว่าจุดหมายขั้นตอนการวิจัยแล้ว แต่การพัฒนากรรมวิธียังมิได้สิ้นสุดหรือหยุดยั้งเพียงนั้น ยังทรงพัฒนาเทคนิคที่จะเสริมให้การปฏิบัติการในแต่ละขั้นตอนกรรมวิธีให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ สภาพอากาศประจำวันในแต่ละช่วงเวลา และฤดูกาลของแต่ละพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติการที่แตกต่างกัน และให้สอดคล้องกับทรัพยากรสนับสนุนของแต่ละคณะปฏิบัติการ เช่น

เทคนิคที่โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี เมฆอุ่นแบบ SANDWICH”

เทคนิคการชักนำกลุ่มเมฆฝนจากเทือกเขาสู่ที่ราบ การชักนำฝนจากพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝนไปยังพื้นที่ที่ต้องการ

เทคนิคการใช้สารเคมีแบบสูตรสลับกลุ่มเมฆที่ก่อตัวในหุบเขาให้เกิดฝน เป็นต้น


เทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคการทำฝนจากเมฆอุ่น ใช้ในการปฏิบัติการหวังผล ต่อเมื่อมีแต่เครื่องบินแบบไม่ปรับความดันให้ใช้ในการปฏิบัติการเท่านั้น เทคนิคเหล่านั้นยังคงใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จนถึง พ.ศ.2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงในปี พ.ศ.2541 ต่อเนื่องมาจนถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.2542 ถึงขั้นเกิดภาวะวิกฤติต่อพื้นที่เกษตรกรรม ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อน สภาพสิ่งแวดล้อม (เช่น ไฟป่า น้ำเค็มขึ้นสูง เป็นต้น) และการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 ในการปฏิบัติการนี้ นอกจากจะทรงฟื้นฟู ทบทวนเทคนิค และเทคโนโลยีฝนหลวงที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในอดีตแล้ว ยังพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคเพิ่มเติมรวมทั้งทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตี โดยทรงนำผลการทดสอบเทคนิคการโจมตีเมฆเย็นที่สัมฤทธิผลอย่างน่าพอใจ มารวมกับเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH” อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็น เทคโนโลยีฝนหลวงล่าสุด พระราชทานให้เริ่มใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 เป็นครั้งแรกอย่างได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถกอบกู้ภัยแล้งให้คืนสู่สภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่งและพระราชทานให้ใช้เป็น
“ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่ง ได้ที่เว็บไซต์เฟสบุ้ค เว็บลิงค์ https://www.facebook.com/groups/www.phetchabun1.go.th/permalink/3585045998208403/ ·

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2563 นายบรรเจิด กลิ่นจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 เป็นประธานการประชุมรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้อำนวยการหน่วย และเจ้าหน้าที่ ตลอดทั้งลูกจ้างทุกคน ณ ห้องประชุมมะขามหวาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 รวมทั้งสิ้น จำนวน 78 คน เพื่อแจ้งทิศทางการจัดการศึกษาร่วมกัน นับเป็นการประชุมร่วมกันของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 ครั้งแรก นับแต่นายบรรเจิด กลิ่นจันทร์ มารับตำแหน่งใหม่ ณ สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา
อนึ่ง ในปัจจุบัน สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 มีรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 4 คน ได้แก่ นายสมบูรณ์ เกียรติบัณฑิต นายสุนัด บุญสวน นายวิทยา เกษาอาจ และ นายชาญณรงค์ ฐานะวิจิตร
ส่วนผู้อำนวยการกลุ่ม และผู้อำนวยการหน่วย ได้แก่ นายวลี มีภู่ กลุ่มอำนวยการ นายมนตรี ช่วยพยุง กลุ่มบริหารงานบุคคล และรักษาการ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา นางไมตรี สำราญรื่น กลุ่มบริหารงานการเงินและสินทรัพย์ นางทอกาญจน์ กลิ่นจันทร์ กลุ่มนโยบายและแผน นางอารีย์ คำมาตร กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา นางทัศนา จันทร์ลา กลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายพิน สงค์ประเสริฐ กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลทางการศึกษา นายพิเชฐ เสน่ห์ กลุ่มกฏหมายและคดี และนางรัศมี สุวาชาติ หน่วยตรวจสอบภายใน
สำหรับเจ้าหน้าที่ทั้งที่เป็นข้าราชการ และลูกจ้างในกลุ่มต่าง ๆ จำแนกได้ดังนี้ กลุ่มอำนวยการ มีจำนวน 16 คน กลุ่มบริหารงานบุคคล มีจำนวน 8 คน กลุ่มนโยบายและแผน มีจำนวน 4 คน กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา มีจำนวน 7 คน กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา มีจำนวน 17 คน กลุ่มบริหารงานการเงินและสินทรัพย์ จำนวน 8 คน กลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีจำนวน 2 คน กลุ่มพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา มีจำนวน 3 คน กลุ่มกฏหมายและคดี มีจำนวน 1 คน และหน่วยตรวจสอบภายใน มีจำนวน 1 คน
สำหรับทิศทางการจัดการศึกษาร่วมกันที่นายบรรเจิด กลิ่นจันทร์ มอบให้คือ ขอให้ทุกคนทำงานในหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรฐานตำแหน่งให้สมบูรณ์ที่สุด ด้วยความตั้งใจและเสียสละ และเชิญชวนร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอแนะในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จะนำพามาซึ่งความร่วมมือ ร่วมใจในการอำนวยการและประสานงานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต เป็นสำนักงานที่มีมาตรฐาน อันจะนำไปสู่โรงเรียนมีมาตรฐาน และนักเรียนมีคุณภาพต่อไป
จากนั้น ผอ.สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 ได้มอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละท่านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของแนวทางการในการดำเนินการในการจัดการศึกษาร่วมกัน ให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละด้านตามลำดับ
ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่ง ได้ที่เว็บไซต์เฟสบุ้ค เว็บลิงค์ https://m.facebook.com/groups/www.phetchabun1.go.th/permalink/3580600775319592/ ·

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1
126 หมู่ 11 ถ.สระบุรี-หล่มสัก ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 67000 
หมายเลขโทรศัพท์. 056-737080, 056-737081 , 056-737083 , 056-737085 , 056-737086
หมายเลขโทรสาร 056-737075  
E-Mail : admin@phetchabun1.go.th
แผนที่ตั้งหน่วยงาน